วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อ

1. เพื่อเพิ่มความมั่นใจและความเชื่อมั่นว่าอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่นำมาใช้ปราศจากเชื้อ

2. เพื่อค้นหาความผิดปกติหรือข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ และสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

3. เพื่อให้สามารถนำห่ออุปกรณ์ที่เกิดความผิดพลาดจากกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อกลับคืนจากหน่วยงานต่างๆ ก่อนที่จะถูกนำไปใช้

การตรวจสอบประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อมี 3 วิธีคือ

  • การตรวจสอบทางกลไก (Mechanical or Physical monitoring)
    เป็นการตรวจสอบการทำงานของเครื่อง Sterilizer โดยดูจากตัวบ่งชี้ทางกลไก ซึ่งได้แก่ มาตรวัดอุณหภูมิ มาตรวัดความดัน สัญญาณไฟต่างๆ ที่แสดงการทำงานของเครื่องในแต่ละขั้นตอน

รูปภาพแสดงเครื่องล้างอุปกรณ์ที่มีปุ่มควบคุมและหน้าจอแสดงสถานะเครื่องเพื่อการตรวจสอบทางกลไกล
  • การตรวจสอบทางเคมี (Chemical monitoring)
    เป็นการตรวจสอบว่าสารที่เป็นตัวทำให้ปราศจากเชื้อ เช่น ไอน้ำ แก๊ส หรือสารเคมีที่ทำให้ปราศจากเชื้อตัวอื่นๆ ได้สัมผัสผ่านเข้าไปในห่ออุปกรณ์หรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบโดยดูจากการเปลี่ยนสีของตัวบ่งชี้ทางเคมี  ซึ่งติดอยู่ภายนอกและอยู่ภายในห่ออุปกรณ์ ตัวบ่งชี้ทางเคมีจากจะช่วยให้ทราบว่าอุปกรณ์ได้ผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว

ตัวบ่งชี้ทางเคมี แบ่งออกได้อีก 2 ชนิดคือ

   1.ตัวบ่งชี้ทางเคมีภายนอก (External chemical indicator) 

มีลักษณะเป็นแถบกระดาษกาวที่มีสีหรือสารเคมีเคลือบไว้เป็นแนวเส้นบนกระดาษ มักใช้ในการติดห่ออุปกรณ์เพื่อมิให้หลุดลุ่ย  และบ่งชี้ให้ทราบว่าห่ออุปกรณ์ได้ผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อแล้วเท่านั้น แต่ไม่สามารถใช้เป็นยืนยันได้ว่าอุปกรณ์ที่อยู่ภายในห่อจะปราศจากเชื้อ 

รูปภาพแสดงตัวบ่งชี้ทางเคมีที่ใช้ภายนอก(External chemical indicator)

2.ตัวบ่งชี้ทางเคมีภายใน (Internal chemical indicator)

                มีลักษณะเป็นชิ้น (strip) หรือเป็นแผ่นกระดาษแข็ง (card) จะใส่ไว้ภายในห่ออุปกรณ์เพื่อให้ทราบว่าไอน้ำหรือแก๊ส  สามารถเข้าภายในห่อและสัมผัสกับอุปกรณ์ภายในห่อหรือไม่ โดยใส่ตัวบ่งชี้ไว้ตรงกลางห่อ หรือในส่วนของห่ออุปกรณ์ที่คาดว่าไอน้ำหรือแก๊สผ่านเข้าได้ยากที่สุด

รูปภาพแสดงตัวบ่งชี้ทางเคมีที่ใช้ภายใน (Internal chemical indicator)

การตรวจสอบทางชีวภาพ (Biological monitoring) 

                เป็นวิธีการตรวจสอบการทำให้ปราศจากเชื้อที่เชื่อถือได้มากที่สุด และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง วิธีการตรวจสอบใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ เรียกโดยทั่วไปว่า spore test การทดสอบทำได้โดยการบรรจุตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ในห่ออุปกรณ์ที่จะนำไปทำให้ปราศจากเชื้อ นำห่ออุปกรณ์ที่จะทดสอบเข้าเครื่องโดยจัดวางห่อทดสอบไว้บริเวณที่คาดว่าการทำให้ปราศจากเชื้อจะยากที่สุด เมื่อห่อทดสอบผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว ให้นำหลอด Spore test และหลอดควบคุม ไปอุ่นเพาะเชื้อที่อุณหภูมิ 55 – 60 องศาเซลเซียส พร้อมๆ กันเป็นเวลา 24 – 48 ชั่วโมง หลังจากอุ่นเพาะเชื้อแล้ว หากพบว่าสีของน้ำยาเลี้ยงเชื้อในหลอดทดสอบเปลี่ยนไป แสดงว่า เชื้อไม่ตาย นั่นคือห่ออุปกรณ์ทั้งหมดยังไม่ปราศจากเชื้อ

รูปภาพแสดงตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ(Biological indicator)